~+[ฮาคนเมือง(ฮักตี้จะอู้กำเมือง)]+~

Random Posts

วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คุ้มในตำนานเมืองเชียงใหม่ ที่คนเมืองอาจจะไม่รู้จัก

1 comments
จากการสำรวจพบว่าในช่วงสมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๙ เป็นต้น ในนครเชียงใหม่มีคุ้มเหลือให้พอสืบประวัติได้อยู่ประมาณ ๒๕ คุ้ม ซึ่งแบ่งเป็น๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังคงสภาพคุ้ม และกลุ่มที่เหลือแต่ชื่อ ส่วนสภาพได้แปรเปลี่ยนสิ้นแล้ว
กลุ่มที่ยังคงมีอาคารเดิม คุ้มในกลุ่มนี้ที่สำคัญมีหลายคุ้ม เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าแม่มุงเมือง ณ เชียงใหม่) สถานที่ตั้งปัจจุบัน คือ สำนักงานยาสูบเชียงใหม่ ถนนพระปกเกล้าอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติของคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มีดังนี้ คือ เดิมเป็นของเจ้าเรณูวรรณาและเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่) เดิมมีพื้นที่ทั้งหมด ๘ ไร่เศษ ได้รับการดูแลรักษาให้คงสภาพเดิมส่วนใหญ่ไว้เป็นอย่างดี
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) สถานที่ตั้งปัจจุบัน คือกลางเวียง ตรงข้ามวัดพันเตา ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คุ้ม แห่งนี้เดิมเป็นคุ้มของเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ต่อมาได้ขายให้กับเอกชนตระกูลทิพยมณฑล ปัจจุบัน คุ้มแห่งนี้ยังคงสภาพเดิมได้เกือบครบถ้วน
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (หน่อเมือง) สถานที่ตั้งคุ้มในปัจจุบันอยู่ตรงข้ามกับวัดฟ่อนสร้อย ประตูเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นคุ้มของเจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหน่อเมือง) ผู้พิพากษาประจำนครเชียงใหม่ เคยใช้เป็นสถานทีพิพากษาคดีความ ปัจจุบันตัวอาคารส่วนใหญ่ ยังคงสภาพเดิม เป็นที่อยู่อาศัยของทายาทอาณาบริเวณกว้างขวางพื้นที่บางส่วนใช้ประกอบกิจการสถานบริการน้ำมัน

คุ้มราชสัมพันธวงศ์ (สิงห์แก้ว) สถานที่ตั้งในปัจจุบันคือบ้านเลขที่ ๑๔๑ ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ด้านหลังโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย คุ้มแห่งนี้ เป็นของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (สิงหแก้ว) สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.๒๔๔๗ คือ ในช่วงวัยเด็กของเจ้าดวงจันทร์ และเจ้าบัวผัด ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (สิงห์แก้ว) และเจ้าแม่บุญปั๋น ณ เชียงใหม่ ปัจจุบัน คุ้มราชสัมพันธวงศ์ เป็นมรดกตกมายังลูกหลานของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ได้อยู่อาศัย สภาพโดยทั่วไปของคุ้มส่วนใหญ่ยังเป็นสภาพเดิม

คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว หรือ คุ้มเจดีย์งาม สถานที่ตั้งปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๗) คือสถานกงสุลอเมริกัน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ สร้างในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย (พ.ศ.๒๔๕๒ - พ.ศ.๒๔๘๒) เคยเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พ.ศ.๒๔๑๖ – ๒๔๗๖) ระยะหนึ่ง
คุ้มรินแก้ว สถานที่ตั้งปัจจุบัน คือ ถนนห้วยแก้ว ข้างอุทยานการค้ากาดสวนแก้ว คุ้มแห่งนี้เดิมเป็นของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย (พ.ศ.๒๔๕๒-๒๔๘๒) เป็นคุ้มที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ ต่อมาคุ้มนี้เป็นมรดกตกทอดยัง เจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ และทายาทของเจ้าพงษ์อินทร์ ณ เชียงใหม่ สภาพคุ้มโดยทั่วไปยังมีสภาพคงเดิม ภายในคุ้มมีภาพวาดของเจ้าหลวงเชียงใหม่ทั้ง ๙ องค์

คุ้มเจ้าวงษ์ตะวัน สถานที่ตั้งปัจจุบัน ริมแม่น้ำปิง ฝั่งตะวันออก เป็นคุ้มของพลตรีเจ้าราชบุตร (วงษ์ตะวัน ณ เชียงใหม่) โอรสเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่และแม่เจ้าจามรี พระบิดาของเจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี เจ้าภัทรา ณ ลำพูน เจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน และคุณหญิงเจ้าระวิพันธุ์ สุจริตกุล ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า “คุ้มหล่ายหน้า” ซึ่งหมายถึงอยู่ฟากข้างโน้น คือริมปิงฝั่งตะวันออก ปัจจุบันขายให้ผู้อื่นแล้ว

กลุ่มที่เปลี่ยนแปลงจนหมดสภาพคุ้มแล้ว เช่นคุ้มกลางเวียง สถานที่ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๗) คือ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม สร้างในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำดับที่ ๖ (พ.ศ.๒๓๙๗-๒๔๑๓) เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์พิราลัย คุ้มแห่งนี้ได้ตกเป็นมรดกแก่เจ้าเทพไกรสร (ทิพเกษร) พระธิดาซึ่งเษกสมรสกับเจ้าอินทนนท์ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๔๐) โดยใน พ.ศ.๒๔๑๓ เจ้าอินทวิชยานนท์ได้โปรดฯให้รื้อคุ้มกลางเวียงของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ไปสร้างเป็นวิหารหลวงถวายวัดกิตติ วัดแสนฝาง และ วัดเชียงยืน
เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัย พระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีพระประสงค์ให้พื้นที่ตั้งคุ้มกลางเวียงเป็นสถานที่ของทางราชการ จึงขอให้เจ้าอุปราชสุริยะ หรือเจ้าอินทวโรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ มอบให้ทางราชการ หลังจากนั้นทางราชการได้สร้างอาคารขึ้นเป็น “ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ” ต่อมาเป็น “ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่จนถึงประมาณ พ.ศ.๒๕๒๗ สมัยที่ นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๓๐) ได้ย้ายศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ไปยังศูนย์ราชการในปัจจุบัน ปรับนับพื้นที่บางส่วนเป็นที่ตั้งพระบรมนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และต่อมาได้ปรับปรุง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ จากศาลากลางหลังเก่าเป็นหอวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

คุ้มเจ้าเลาแก้ว สถานที่ปัจจุบัน คือ ศาลแขวง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนนี้เป็นมรดกของเจ้าอุปราชสุริยะ หรือเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ และต่อมาเป็นมรดกของเจ้าน้อยเลาแก้ว ผู้เป็นบุตร (ภายหลังได้เลื่อนยศเป็นเจ้าราชบุตร) คุ้มหลังนี้เดิมเจ้าอุปราชสุริยะ จะทูลเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ แต่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ขอให้ถวายพื้นที่คุ้มกลางเวียงไปแทนเสียก่อน ต่อมาทางราชการได้ขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าราชบุตร (เลาแก้ว) มาสร้างเป็นศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่

คุ้มท่า (อ่าน “คุ้มต้า”) สถานที่ตั้งคุ้มในปัจจุบัน คือ เทศบาลนครเชียงใหม่และสถานีดับเพลิง เดิมเป็นที่ประทับในฤดูร้อนของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ ๖ และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ ๗ และเป็นคุ้มสำหรับให้ประชาชนได้รดน้ำดำหัวเจ้าผู้ครองนครทั้ง ๒ องค์ในช่วง “ปีใหม่” หรือเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ ต่อมา พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ประทานคุ้มนี้ให้พระธิดาคือ พระเจ้าทิพเกษร หรือเทพไกรสรใช้เป็นเรือนหอเมื่อครั้งอภิเษกกับเจ้าน้อยอินทนนท์ (พระเจ้าอินทวิชยานนท์) ภายหลังพระราชชายาเจ้าดารารัศมีผู้เป็นพระธิดาได้รับเป็นมรดกและต่อมาได้ขายถวายหลวง ทางราชการสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงได้ใช้เป็นจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ และวังอุปราชมณฑลภาคพายัพในสมัย ม.จ.บวรเดช กฤดากร ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลภาคพายัพ (พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๙)

คุ้มเจ้าอินทวิชยานนท์ สถานที่ตั้งปัจจุบัน คือ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๔๔๔ โรงเรียนยุพราชฯ ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า “โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ” ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงละครเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ ทรงประทับอยู่ในคุ้ม บริเวณที่ดินที่บริจาคอันเป็นที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน พ.ศ.๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยาม-มงกุฎราชกุมารฯ ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินซึ่งเป็นคุ้มเดิมของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ลำดับที่ ๗ เพื่อเป็นสถานที่จัดตั้งโรงเรียน ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๔ เจ้าราชวงศ์ (เลาแก้ว ณ เชียงใหม่) ราชบุตรของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้ยกที่ดินส่วนเหนือของตึกยุพราช(เดิมเป็นคุ้มหลวง) เนื้อที่ ๕ ไร่ ๙๓ ตารางวา ให้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกับพื้นที่ที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีและเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ได้ยกให้กับทางโรงเรียนในครั้งก่อน

คุ้มช้างเผือก (อ่าน“คุ้มจ๊างเผือก) สถานที่ตั้งปัจจุบัน คือ บริเวณบริษัทการบินไทย จำกัด ถนนพระปกเกล้า ความเป็นมาของคุ้มแห่งนี้ คือ เดิมเป็นของเจ้าอินทนนท์ เมื่อสมรสกับเจ้ารินคำ ธิดาเจ้าไชยลังกาพิศาลคุณเจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ ๖ ต่อมาเจ้าน้อยสุริยะหรือเจ้าอุปราชสุริยะ ต่อมาคือเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำดับที่ ๘ รับมรดกจากเจ้าอินทนนท์ และต่อมาเป็นของเจ้าราชบุตร (เจ้าเลาแก้ว)

คุ้มเจ้าฟ้าเชียงตุง (อ่าน“คุ้มเจ้าฟ้าเจียงตุ๋ง”) สถานที่ตั้งปัจจุบัน คือ สถานที่ตั้งศาลาธนารักษ์ ของกรมธนารักษ์ที่ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นคุ้มของเจ้าฟ้าพรหมลือแห่งเชียงตุงกับเจ้าทิพวรรณ ณ เชียงตุง ประวัติคุ้มแห่งนี้ คือ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นผู้จัดการให้เจ้าแก้ว ได้ครอบครองคุ้มหลังนี้ เมื่อเจ้าแก้วได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ เลื่อนเป็นเจ้าแก้วนวรัฐฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ลำดับที่ ๙ (พ.ศ.๒๔๕๔-๒๔๘๒) ได้ใช้เป็นคุ้มหลวง

สมัยเจ้าแก้วนวรัฐฯ ในบริเวณที่ตั้งคุ้มหลวงกว้างขวาง มีศาลาหลังใหญ่ ใช้เป็นที่จ่ายเงินเดือนพวกข้าในคุ้ม จ่ายเงินค่าตอไม้สำหรับเจ้านาย และเป็นที่เรียนหนังสือของลูกหลานเจ้านาย ด้านทิศตะวันตกเป็นโรงละคร ด้านหลังเป็นโรงเลี้ยงม้า เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้สร้างคุ้มรินเก้ว และยกคุ้มแห่งนี้ให้แก่เจ้าบัวทิพย์ ซึ่งเป็นธิดา แต่ต่อมาเจ้าบัวทิพย์ได้ขายให้แก่ นายชู โอสถาพันธุ์ (คนทั่วไปเรียกเจ๊กโอ้ว) ภายหลังนายชูได้รื้อสิ่งปลูกสร้างของคุ้มนี้ทั้งหมด แล้วปลูกตึกแถวทำเป็นตลาดเรียกว่าตลาดนวรัฐ

นอกจากนี้ยังมีคุ้มแห่งอื่นๆ อีกหลายแห่งที่เหลือ แต่ชื่อ เช่น
คุ้มเจ้าอุปราชสุริยะวงศ์ ซึ่งปัจจุบันเป็น USIS
คุ้มเจ้าราชวงศ์ ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นคุ้มแก้วพาเลซ ถนนพระปกเกล้า
คุ้มเวียงแก้ว ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเรือนจำกลางเชียงใหม่
คุ้มเวียงบัว ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งในบริเวณ สถาบันราชภัฎเชียงใหม่
คุ้มเจ้าพุทธวงศ์ ครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอุปราช ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์หน้าวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
คุ้มเจ้าราชภาคินัย ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์หน้า วัดหัวข่วง ประตูช้างเผือก ตรงข้าม คุ้มแก้ว
คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์ (ธัมมลังกา) ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์เยื้องหน้าวัดป้านปิง
คุ้มเจ้าจอมเมือง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ว่างข้างสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม
คุ้มเจ้ามหาวัน บิดาของเจ้าจอมเมือง ปัจจุบันเป็นพื้นที่ตั้งสำนักงานทนายความ หน้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ฯลฯ

1 ความคิดเห็น:

  1. ยังมีคุ้มรอบนอกอีกนะครัช คุ้มเจ้ามหาวงศ์ ลองไปหาข้อมูลดูครัช

    ตอบลบ